บล็อกทันเหตุการณ์

  • http//pututani
  • pututani

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เปิดแคนดิเดท "จุฬาราชมนตรี" คนใหม่


เปิดแคนดิเดท "จุฬาราชมนตรี" คนใหม่
Written by Administrator
SUNDAY, 09 MAY 2010 08:02
เอกราช มูเก็ม*
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


การจากไปของ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 24 มี.ค.2553 ทำให้กระแสสังคมเริ่มให้ความสนใจกับการสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่ โดย นายสวาสดิ์ ได้รับการเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรี หลังจาก นายประเสริฐ มะหะหมัด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2540 จึงนับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

จากยุคกรุงศรีฯถึงรัตนโกสินทร์

จุฬาราชมนตรี เปรียบเสมือนประมุขมุสลิมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา โดยจุฬาราชมนตรีคนแรกแต่งตั้งในสมัยพระเจ้าทรงธรรม คือ เชค อะหมัด เป็นพ่อค้าวานิชชาวเปอร์เชีย นิกายชีอะห์ และนับเป็นปฐมแห่งจุฬาราชมนตรี และเป็นต้นตระกูล "บุนนาค"

หากย้อนอดีตกลับไปจะพบว่า จุฬาราชมนตรีตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา กระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่มาจากนิกายชีอะห์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมุสลิมสายสุหนี่ ในยุคของ นายแช่ม พรหมยงค์ สมัยรัชกาลที่ 8

การคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนใหม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างคึกคัก การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ค.2553 นี้ โดยจะให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจาก 38 จังหวัด 740 คน เป็นผู้เสนอชื่อและลงคะแนน

รศ.ดร.อารง สุทธาศาสตร์ นักวิชาการอิสระ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันโลกอิสลาม กล่าวถึงคุณสมบัติของจุฬาราชมนตรีคนต่อไปว่า จะต้องมีความเชี่ยวชาญอัลกุรอาน หะดิษ อีกทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลาม ประวัติศาสตร์อิสลาม รวมถึงต้องมีความรอบรู้ด้านภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษด้วย

นอกจากนี้ จุฬาราชมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับราชการและสังคมต่างศาสนิก และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือต้องเป็นผู้ที่ไม่มีความด่างพร้อยในทุกๆ ด้าน ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นจุฬาราชมนตรีให้มีความสง่างาม

เปิดโผแคนดิเดทจุฬาราชมนตรี

สำหรับผู้ที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป และที่เปิดตัวอย่างชัดเจนแล้ว ประกอบด้วย

- ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์ ก่อนจะไปจบปริญญาเอกจากประเทศอินเดีย ศ.ดร.อิมรอน เป็นหนึ่งในผู้ทรงวุฒิของอดีตจุฬาราชมนตรี มีสายสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับฝ่ายการเมืองและในคณะกรรมการกลางอิสลามฯ แต่ด้วยบริบทที่เป็นนักวิชาการ ทำให้เป็นที่รู้จักในแวดวงนักวิชาการมากกว่าสายการเมือง

- นายทวี (ชาฟีอี) นภากร อิหม่ามประจำมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์เช่นกัน ได้รับแรงหนุนอย่างเต็มที่จาก พิเชษฐ์ สถิรชวาล เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะน้องเขยที่มีบทบาทสูงสุดในคณะกรรมการกลางอิสลามฯชุดนี้

- นายอาศีส พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เป็นตัวแทนจากภาคใต้ เปิดตัวชัดเจนแล้ว และมีฐานเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงปัตตานี ยะลา นราธิวาส และภาคใต้ตอนกลางบางส่วน

- นายอรุณ บุญชม ประธานคณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาดินะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีฐานเสียงสนับสนุนจากสาย กทม.ที่มี นายสมัย เจริญช่าง ส.ส.กรุงเทพมหานรคร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานคณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร ออกแรงเชียร์

- นายวินัย (มัรวาน) สะมะอุน อิหม่ามมัสยิดกามาลุลอิสลาม มีนบุรี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แม้จะห่างหายจากแวดวงคณะกรรมการกลางฯมานาน แต่ด้วยบทบาทการเป็นนักวิชาการด้านศาสนา และได้รับการยอมรับว่าเป็นนักประนีประนอมชั้นดี จึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แถมยังเคยมีบทบาทในหลายเวที ทั้งอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำให้ไม่อาจมองข้ามนายวินัยไปได้

- นายอรุณ (การีม) วันแอเลาะห์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์ ถือเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่มีสายสัมพันธ์กับเครือข่ายอดีตจุฬาราชมนตรี ได้รับแรงหนุนจากคณะกรรมการอิสลามสายภาคกลาง

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเลือกตั้ง ย่อมมีโอกาสที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซง และการคัดสรรผู้นำองค์กรศาสนาบางระดับในหลายๆ โอกาส ก็มี “การเมือง” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจริง โดยหวังจะให้เป็นฐานอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

การคัดเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร กระแสการเมืองจะแรงแค่ไหน เพราะคาดว่าภายในไม่เกินสิ้นปีจะมีการเลือกตั้งใหม่ตามมา...

http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=324:-q-&catid=10:2009-11-15-11-15-01&Itemid=3


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น