บล็อกทันเหตุการณ์

  • http//pututani
  • pututani

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จุฬาราชมนตรี

อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ

ในทัศนะของผู้เขียน คิดว่าการสรรหาจุฬาราชมนตรีที่พิจารณาจากพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพออีกแล้วในภาวะปัจจุบัน เพราะในสังคมมุสลิมไทยในเวทีสัมมนาต่างๆ ได้นำเสนอคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนี้มากกว่าคุณสมบัติพื้นฐานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการศาสนาและสามัญ อาทิ ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมนุษยวิทยา อีกทั้งสามารถประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสุขุม รอบคอบ ทำงานมากกว่าพูด มีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ มั่นคง ไม่อ่อนไหวตามกระแส และที่สำคัญจะต้องเป็นที่ยอมรับของมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

ถึงแม้การได้มาซึ่งจุฬาราชมนตรีจะผ่านกระบวนการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติการสรรหาจุฬาราชมนตรีคนก่อนก็เป็นที่กล่าวถึงและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเช่นกัน ยังความกังวลให้กับการสรรหาในครั้งนี้ไม่ใช่น้อย (ไม่ใช่จากตัวจุฬาราชมนตรี แต่จากผู้อยู่เบื้องหลังท่านที่พยายามใช้กระบวนการทางการเมืองล็อบบี้ให้ได้เสียงสนับสนุน)

ในขณะที่สื่อมุสลิมมีความกังวลและวิพากษ์วิจารณ์การสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่อย่างเผ็ดร้อน แต่สื่อมุสลิมเองก็พยายามใช้เครื่องมือเท่าที่สามารถและหาได้ในการสร้างความเข้าใจถึงข้อดี ข้อเสียของการได้มาซึ่งผู้นำมุสลิมที่สังคมไม่ยอมรับ พร้อมกระตุ้นความรักในอิสลามของพี่น้องมุสลิมไทยทุกๆ คน หากครั้งนี้มุสลิมไทยได้ผู้นำที่ไม่เหมาะสม สังคมมุสลิมก็จะอยู่ภายใต้เงามืด

ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่สังคมมุสลิมไทยจะมีผู้นำศาสนาที่ทุกคนยอมรับ เป็นภาพที่สง่างามของมุสลิม เพื่อให้ต่างศาสนิกยอมรับและต่างประเทศเชื่อถือ มันเป็นภารกิจของพี่น้องมุสลิมไทยทั่วประเทศ ต้องปกป้อง ดูแลรักษาสถาบันสูงสุดทางด้านการศาสนามิให้ใครมาครอบงำ

จากสภาวการณ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงไม่ใช่ภารกิจที่ท้าทายจุฬาราชมนตรีคนใหม่เป็นอย่างสูงเท่านั้น ว่าเขาจะพาสังคมมุสลิมไทยไปในทิศทางใด แต่มันยังเป็นหน้าที่ของผู้สรรหาจุฬาราชมนตรีด้วยเช่นกันว่าจะใช้กระบวนการตามหลักศาสนธรรมหรือกระบวนการตามที่นักการเมืองได้ปฏิบัติในการเลือกตั้ง

สำหรับกระบวนการสรรหาผู้นำตามหลักศาสนธรรมหรือกฎหมายอิสลามนั้น จะใช้ “กระบวนการชูรอ”

คำว่า “ชูรอ” เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-Shura) ในหลักภาษาอาหรับ เป็นคำมัสดัร (เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง อาการนาม) ซึ่งแปลว่าการปรึกษาหารือ ดังที่อัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา (อัชชูรอ: ๓๘ )

สำหรับความหมายทางด้านศาสนบัญญัติ หมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามหลักนิติศาสตร์อิสลามจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ

การสรรหาผู้นำอิสลามตามอุดมคติจะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้นำเป็นที่ตั้ง แล้วมีการร่วมใช้ “กระบวนชูรอ” สรรหาว่าท่านใดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในภาวะปัจจุบัน โดยต้องปราศจากอคติ ความสนิทสนม เชื้อชาติ สีผิว หรือภาคนิยม มิใช่ใช้การล็อบบี้การสรรหาผู้นำอย่างนักการเมืองก่อนวันลงมติสรรหาจุฬาราชมนตรี

ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของกรรมการอิสลามทั้ง 740 คนที่จะสรรหาผู้นำตามหลักศาสนธรรมที่พระเจ้าได้ดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน และวัจนศาสดามุฮัมมัด มาเป็นกรอบในการพิจารณาดังนี้

1.ผู้นำต้องมีศาสนธรรม ความรู้ ความสันทัด ความสามารถในการบริหารและการปกครอง มิใช่ด้วยเหตุผลการสืบทอดและความร่ำรวย (ซูเราะห์ อัล-บะก่อเราะห์ อายะห์ที่ 247)

2. ผู้นำต้องมีความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน ผู้นำเมื่อมีการบิดพลิ้วก็จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำ จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ ดังดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกุรอานความว่า "แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงมีบัญชาแก่พวกเจ้าให้พวกเจ้ามอบความไว้วางใจ (ให้รับผิดชอบการงานหรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ) แก่ผู้ทรงสิทธิ์ของมัน และเมื่อพวกเจ้าทำการตัดสินในระหว่างมนุษย์ พวกเจ้าจงตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงเป็นการดียิ่งที่พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในสิ่งนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงมองเห็น" (ซูเราะห์ อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 58)

3. ตำแหน่งผู้นำคือ อามานะห์ (ความไว้วางใจ) อย่างหนึ่งที่กลุ่มชนได้มอบความไว้วางใจ มอบภารกิจอันทรงเกียรติให้ท่านรับผิดชอบ เพราะท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ทรงวจนะแก่ท่านอบี ซัรรีน (สหายศาสดา) ความว่า "อำนาจการปกครองนั้นคืออามานะห์ และในวันกิยามัต (สิ้นโลก) มันจะมีแต่ความอัปยศและความเสียใจ เว้นเสียแต่ผู้ที่นำมันมาด้วยความชอบธรรมและดำเนินการตามภาระที่มีอยู่" (บันทึกโดยมุสลิม)

4. อย่าบิดพลิ้วต่อประชาชนผู้มอบความไว้วางใจ ดังดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกุรอานความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าบิดพลิ้วต่ออัลลอฮ์ และศาสดา และอย่าบิดพลิ้วต่อความไว้วางใจ (ที่ผู้อื่นมอบแก่) พวกเจ้า ทั้งๆ ที่พวกเจ้าก็รู้ดี" (ซูเราะห์ อัล-อัมฟาล อายะห์ที่ 27)

5. ทุกคนต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบ เพราะท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ทรงวจนะความว่า "พวกเจ้าทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบ และพวกเจ้าทุกคนต้องถูกสอบถามจากความรับผิดชอบในบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแล"

6. ผู้นำต้องไม่กระสันอยากได้ตำแหน่ง ซึ่งการสรรหาปัจจุบันหากจุฬาราชมนตรีเดินหาเสียงสนับสนุนก่อนการลงมติ หรือล็อบบี้ในภาษาการเมืองย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะท่านศาสดามุฮัมมัดได้ทรงวจนะไว้ว่าท่านอย่าขอตำแหน่ง เพราะหากท่านได้ตำแหน่งมาโดยมิได้ขอ ท่านจะได้รับการช่วยเหลือ แต่ได้ตำแหน่งมาโดยการขอ ท่านจะถูกมอบหมาย (ให้ทำคนเดียวไม่มีใครช่วยเหลือ)

ที่สำคัญตามหลักศาสนาอิสลาม ถึงแม้ในบทบัญญัติจะระบุว่าประชาชนในฐานะผู้ตามจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำ แต่ตามหลักการศาสนาเช่นกัน ประชาชนทั่วไปยังคงมีอำนาจในการตรวจสอบผู้นำด้วย เพราะการเรียกร้องสู่ความดีปราบปรามความชั่วเป็นสิทธิของทุกๆ คนในสังคม และสิทธิในการที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำ เพราะท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ทรงวจนะความว่า

“ผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ(หมายถึงอำนาจถ้ามี) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น(หมายถึงตักเตือนคัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคือความศรัทธาที่อ่อนแอที่สุด” บันทึกโดยอิมามมุสลิม

นี่คือหลักการที่จะได้มาซึ่ง “จุฬาราชมนตรีสีขาว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น