บล็อกทันเหตุการณ์

  • http//pututani
  • pututani

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เคอร์ฟิวกรุงเทพฯ จลาจลทั่วประเทศ!


เคอร์ฟิวกรุงเทพฯ จลาจลทั่วประเทศ!
WEDNESDAY, 19 MAY 2010 18:51
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วกรุงเทพฯ ห้ามประชาชนออกจากบ้าน 2 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า หลังมวลชนเสื้อแดงก่อจลาจลทั่วกรุง เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน
โรงหนังสยาม พร้อมธนาคารอีกหลายแห่ง เสียงระเบิดตูมตามตลอดเวลา เหตุไม่พอใจรัฐบาลใช้กำลังทหารบุกสลายม็อบตั้งแต่เช้ามืด พร้อมฉุนแกนนำยอมมอบตัว-ประกาศยุติ
ชุมนุม กทม.สรุปเพลิงเผาสถานที่สำคัญ 15 จุด วิกฤติลามอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสาน องค์กรสื่อถูกบุก-ไล่ล่า

รัฐบาลตัดสินใจประกาศมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือ "เคอร์ฟิว" ระหว่างเวลา 20.00-06.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.2553
เพื่อควบคุมสถานการณ์จลาจลทั่วกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม
ของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายจุดในกรุงเทพฯ กระทั่งแกนนำผู้ชุมนุม 6 คนยอมเข้ามอบตัวและประกาศยุติชุมนุม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้

เวลา 16.00 น.วันที่ 19 พ.ค. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ออกประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อเวลา 16.00 น.
วานนี้ ประกาศเคอร์ฟิวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่างเวลา 20.00 น.วันที่ 19 พ.ค. ถึงเวลา 06.00 น.วันที่ 20 พ.ค.
โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

การประกาศเคอร์ฟิวดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังกลุ่มคนเสื้อแดงก่อจลาจลหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่พอใจที่ฝ่ายรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม
ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้งเวทีย่อยและจะบุกเข้าเวทีหลักที่ราชประสงค์ จนแกนนำยอมประกาศยุติชุมนุม ทั้งนี้ มวลชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่
ล้วนแสดงความไม่เห็นด้วยที่แกนนำยุติชุมนุม จึงออกปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลด้วยรูปแบบต่างๆ เอง

ตี 3 ดีเดย์รถหุ้มเกราะเคลื่อนประชิดม็อบ

ทั้งนี้ ปฏิบัติการ "กระชับวงล้อม" พื้นที่ชุมนุมเวทีราชประสงค์ของทหาร ตำรวจ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 03.30 น.เช้ามืดวันที่ 19 พ.ค.มีรถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ
จำนวน 7 คัน รถบัสทหารกว่า 20 คัน ภายในมีเจ้าหน้าที่ทหารเต็นคันรถ วิ่งผ่านถนนสีลมมุ่งหน้าศาลาแดง และเริ่มดาหน้าเข้าคุมพื้นที่และปากซอยสำคัญ

ช่วงเช้า รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะได้เคลื่อนเข้ารื้อถอนทำลายบังเกอร์ของการ์ด นปช.ซึ่งใช้ยางรถยนต์และไม้หลาวแหลมจำนวนมากบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
แต่ปฏิบัติการชะงักเป็นช่วงๆ เนื่องจากเจอระเบิดขว้างและระเบิดเครโมวางอยู่ เกรงว่าจะมีการระเบิด ช่วงนั้นเริ่มมีเสียงปืนดังขึ้นประปราย

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งเปิดเวทีย่อยอยู่หลายแห่ง อาทิ คลองเตย ใต้ทางด่วนดินแดง ได้เริ่มเคลื่อนไหวตอบโต้ โดยมีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งบุกเผา
อาคารของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

สถานการณ์บริเวณนั้นตึงเครียดหนัก กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงอาการโกรธแค้นนักข่าว ไม่ยอมให้เข้าไปถ่ายภาพหรือรายงานข่าว บางคนยังปรี่จะเข้าทำร้ายบนถนนราชดำริ
หน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต่อเนื่องถึงแยกสารสิน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เผายางรถยนต์จำนวนมหาศาลจนเกิดกลุ่มควันหนาทึบพัดเข้าไปในโรงพยาบาล จนทางโรงพยาบาลต้อง
อพยพผู้ป่วย ทั้งนี้การเผายางรถยนต์ยังเกิดขึ้นอีกหลายจุด อาทิ บนถนนพระรามที่ 4 หน้าชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งเพลิงได้ลุกลามไปไหม้อาคารพาณิชย์ในย่านนั้น
ด้วยปฏิบัติการในช่วงเช้าตรู่เป็นการรุกคืบเข้าไปยังจุดที่มีข่าวว่ากลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะกองกำลังต้องสงสัยติดอาวุธคุมพื้นที่อยู่ อาทิ ภายในสวนลุมพินี
บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 กระทั่งสามารถยึดพื้นที่เป้าหมายทั้งหมดได้เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.

แกนนำยอมมอบตัว-ยุติชุมนุม-ม็อบโวย

ช่วงนั้นจุดปะทะเหลือเพียง 2 จุด คือแยกสารสินก่อนพุ่งเข้าแยกราชประสงค์ มีการยิงตอบโต้กันอย่างดุเดือด เสียงระเบิดดังเป็นระยะ มีการ์ด นปช.
และผู้สื่อข่าวต่างประเทศจากอิตาลีเสียชีวิต กับที่บ่อนไก่มีทหารถูกซุ่มยิงบาดเจ็บสาหัส
เวลาประมาณ 13.29 น.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.พร้อมด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองประธาน นปช.และแกนนำคนอื่นๆ ขึ้นเวทีราชประสงค์
ประกาศยอมมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่าเป็นการนำอิสรภาพของแกนนำไปแลกกับชีวิตของผู้ชุมนุม ไม่ให้มีการเสียชีวิตไปมากกว่านี้ โดยนายณัฐวุฒิ ย้ำว่า การต่อสู้ยังไม่จบ และจะกลับมาอีก
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งโดยมากเป็นผู้หญิงได้แสดงความไม่พอใจ โห่ร้องด้วยเสียงอันดัง และตะโกนไม่ยอมยุติชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมผู้หญิงหลายคนถึงกับร้องไห้
โดยเฉพาะเมื่อ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า "วันนี้ไม่ใช่วันของเรา"
ขณะที่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำสายฮาร์ดคอร์ ปรากฏว่าหลบหนีออกจากที่ชุมนุมไปก่อนตั้งแต่ช่วงสาย แต่ไปไม่รอด ถูกตำรวจจับได้ย่านเพลินจิต
และถูกคุมตัวไปสอบปากคำยังค่ายทหารแห่งหนึ่ง
ศอฉ.สั่งหยุดใช้ปฏิบัติการทางทหาร
เวลา 13.41 น.นายจตุพร นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง พร้อมแกนนำจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเท้าเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับเวทีราชประสงค์
โดยมีการ์ด นปช.ตามคุ้มกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นายจตุพรได้ตรงเข้าไปกราบโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่นายณัฐวุฒิใช้
ไมโครโฟนสื่อสารกับมวลชนอีกรอบ ย้ำว่าขอให้เดินทางกลับบ้าน แล้วกลับมาเจอกันใหม่ เพราะจุดยืนยังไม่เปลี่ยนแปลง
เวลา 14.00 น.พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.ออกแถลงสั่งให้กำลังพลทั้งทหารและตำรวจหยุดปฏิบัติการ หลังควบคุมสถานการณ์ภาพรวมเอาไว้
ได้ พร้อมเตือนประชาชนผู้ชุมนุมให้ออกนอกพื้นที่ โดยไปรวมตัวที่สนามศุภชลาศัยเพื่อให้ทางราชการส่งกลับบ้าน
สถานการณ์พลิก-แดงก่อจลาจลทั่วกรุง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ได้พลิกผัน เพราะมวลชนคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐบาล และการประกาศยุติชุมนุมของแกนนำ ได้ก่อจลาจลไปทั่วกรุงเทพฯ
โดยเมื่อเวลา 14.15 น.มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังระงมรอบๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการทำลายข้าวของและตู้โทรศัพท์ รวมทั้งเริ่มจุดไฟเผาสถานที่ต่างๆ
อาทิ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โรงภาพยนตร์สยาม กลุ่มควันหนาทึบ
เวลา 14.25 น.บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหาร มีการเผายางรถยนต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเสียงปืนและเสียงระเบิด
ขณะเดียวกันเกิดเพลิงไหม้ใกล้กับธนาคารนครหลวงไทย สาขาริมถนนราชปรารภ นอกจากนั้นยังมีการรวมตัวกันของแนวร่วมคนเสื้อแดง ใช้รถจักรยานยนต์ก่อกวนไปทั่ว
อาทิ ทุบทำลายตู้โทรศัพท์ ไฟจราจร ป้อมตำรวจ
เวลา 14.35 น.บริเวณแยกสามย่าน ถนนพระรามที่ 4เชิงสะพานไทย-ญี่ปุ่น มุ่งหน้าไปยังหัวลำโพง แนวร่วมคนเสื้อแดงนำรถประจำทางจอดขวางถนน
และจุดไฟเผา
กทม.สรุปก่อนค่ำเผาเมืองแล้ว15 จุด
พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (สปภ.)กรุงเทพมหานคร (กทม.)กล่าวเมื่อเวลา 16.00 น.
ว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นมีเหตุเพลิงไหม้ตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ย่านราชประสงค์ เกิดเหตุเพลิงไหม้ 6 จุด ได้แก่ 1.โรงภาพยนตร์สยาม ซึ่งถูกเพลิงเผาจนถล่ม
2.ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน 3.ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิล์ด 4.โรงแรมเซ็นทราแกรนด์ 5.ธนาคารกรุงเทพ และ 6.ธนาคารนครหลวงไทยย่านชิดลม เกิดเหตุเพลิงไหม้ 2 จุด ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงไทย สาขาชิดลม และ 2.พื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณชิดลม
ย่านคลองเตย มีเหตุเพลิงไหม้ 4 จุด ได้แก่ 1.ที่ทำการไฟฟ้านครหลวง สาขาคลองเตย 2.อาคารล็อกซ์เล่ย์ 3.ตึกมาลีนนท์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3
และ 4.อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยย่านดินแดง เกิดเหตุเพลิงไหม้ 3 จุด ได้แก่ 1.อาคารในซอยบุญชูศรี 2.อาคารบนถนนมิตรไมตรี และ 3.แฟลตดินแดง
พ.ต.อ.พิชัย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีเหตุเพลิงไหม้เท่าที่ได้รับรายงานทั้งสิ้น 15จุด ซึ่งรถดับเพลิงของ สปภ.ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ เนื่องจากถูกกลุ่มคนเสื้อแดงใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่
จลาจลลามองค์กรสื่อ-ต่างจังหวัดสถานการณ์จลาจลได้ลุกลามไปถึงองค์กรสื่อ โดยมีแก๊งมอเตอร์ไซค์บุกเข้าไปที่สำนักงานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อาคารมาลีนนท์ ริมถนนพระรามที่ 4 มีการจุดไฟเผาห้องออกอากาศ ทำให้ช่อง 3 ต้องยุติการออกอากาศไปโดยปริยายสำหรับองค์กรสื่อแห่งอื่นๆ ที่ถูกคุกคาม อาทิ อาคารโพสต์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และโพสต์ทูเดย์ ทำให้ต้องอพยพพนักงานออกจากพื้นที่ทันที นอกจากนั้นยังมีอาคารเนชั่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก และเนชั่นสุดสัปดาห์ มีการอพยพพนักงานเช่นกัน รวมถึงสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ด้วยขณะเดียวกัน ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้เกิดสถานการณ์ในลักษณะจลาจลขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและอีสาน อาทิ เผาศาลากลางที่ จ.อุดรธานี ล้อมศากลางจังหวัดขอนแก่น เผายางรถยนต์ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
"ทักษิณ"แถลงการณ์ไม่ค้านเจรจา
วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แจกจ่ายแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ลงวันที่ 19 พ.ค.โดยมีเนื้อหาดังนี้“ตามที่ในวันนี้ รัฐบาลได้สั่งเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง เข้าทำการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณพื้นที่ราชประสงค์ อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลได้กล่าวว่า พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และระบุว่าให้แกนนำ นปช ไปขอความเห็นชอบจาก ตัว พ.ต.ท ทักษิณ ก่อนการเจรจานั้น ผมขอแถลงข้อเท็จจริงต่างๆ ดังนี้
1.ผมไม่เคยคัดค้านการเจรจา ในทางตรงกันข้าม ผมสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายคือ นปช. และรัฐบาล ทำการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองโดยสันติ วิธี และเพื่อให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริงในชาติ
2.ผู้ชุมนุม และนปช. เรียกร้องประชาธิปไตย และความยุติธรรม ไม่ได้มาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตัวผม ผมไม่ใช่แกนนำ นปช.ถ้าจะมีการเจรจาใดๆ รัฐบาลต้องไปเจรจากับ แกนนำนปช. ไม่ใช่เจรจากับตัวผม
3.รัฐบาลกล่าวหาว่ามีการก่อการร้าย และบิดเบือนใส่ร้ายว่าผมเป็นผู้สั่งการในต่างประเทศ ผมขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ผมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ผมไม่เคยสั่งการให้ใครกระทำการใด โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรง เพราะผมรักประเทศไทยไม่น้อยไปกว่าคนในรัฐบาล ผมเชื่อและยึดมั่นในแนวทางสันติ อหิงสา และปฏิเสธความรุนแรง ถ้ามีการก่อการร้ายจริงตามที่รัฐบาลกล่าวหา รัฐบาลต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใส่ร้ายผมด้วยความเท็จ เช่นที่ผมถูกกระทำตลอดเวลาร่วมสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลควรมองผู้ชุมนุมว่าเป็นคนไทยด้วยกัน โปรดอย่าทำร้ายพวกเขาเหล่านั้นเลย ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชน และเปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทันที ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อ และสร้างบาดแผลทางสังคมให้บาดลึกลงไปอีก”
กอร์ปศักดิ์ชี้"ทักษิณ"ขวางแนวสันติ
ก่อนหน้านั้น นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ว่า ได้คุยโทรศัพท์กับ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา พบว่านายประสพสุขไม่รู้เรื่องรายละเอียดการเจรจาเท่าที่ควร จึงบอกให้ไปคุยกับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ที่เป็นตัวแทนไปเจรจากับแกนนำ นปช. แต่คิดว่า พล.อ.เลิศรัตน์ คงทราบแล้วว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างที่คิด
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเรื่องของความมั่นคงไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจา อีกทั้งที่ผ่านมาการเจรจากับกลุ่ม นปช.มีมาเกือบ 2 สัปดาห์ และได้ข้อยุติกันหมดแล้ว แต่ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอม ดังนั้นการที่ ส.ว.จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจา เหมือนเป็นการเริ่มใหม่ทั้งหมดและไม่เป็นประโยชน์ จึงขอให้ แกนนำ นปช.ควรเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ดีกว่า เพราะการเจรจากับรัฐบาลเรียบร้อยหมดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น